ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน และ ไซบูทรามีน สารอันตรายที่ห้ามใส่ผลิตภัณฑ์ และหากผู้ใดครอบครองก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ก็ยังมีลักลอบใส่ลงไป เพราะ ต้องการให้เห็นผลเร็ว ยิ่งกิน ยิ่งผอม แต่ก็ยิ่งสะสมในร่างกาย ส่งผลถึงระบบบประสาท และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สารทั้งสองชนิดนี้ มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องการกดลดความอยากอาหาร จึงนิยมลักลอบใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนัก พร้อมคำโฆษณาว่า “ผอมจริง ผอมไว ผอมใน 7 วัน” แต่ความผอมที่ได้มานี้ตามมาด้วยอาการข้างเคียงต่าง ๆ
ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน (Desoxy-D2PM)
ไดเฟนิลเมทิลไพโรลิดีน (desoxy-D2PM) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มีผลข้างเคียง เช่น อาการประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้ ส่วนไซบูทรามีน จะมีอาการตั้งแต่ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว เป็นต้น
ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มีโทษตามมาตรา 149 (1) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยผู้อนุญาตจะพิจารณาออกใบอนุญาตผลิต ขาย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือสภากาชาดไทย และมีความประสงค์ที่จะผลิต ขาย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เพื่อประโยชน์ของทางราชการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่หากเพื่อการค้าฝ่าฝืน 149 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 1,500,000 บาท
ไซบูทรามีน (Sibutramine)
ไซบูทรามีน (Sibutramine) คือ สารลดความอยากอาหาร เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งโดยแพทย์ ปัจจุบันถูกสั่งห้ามนำเข้าและจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553 แต่ยาลดน้ำหนักบางแบรนด์ก็ลักลอบใส่สารนี้ลงไป เนื่องจากไปขัดขวางการทำงานฮอร์โมนบางตัว และช่วยเผาผลาญไขมันที่สะสมในร่างกาย ทำให้น้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว แต่มีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น และอันตรายถึงชีวิตได้หากมีโรคประจำตัวและใช้ร่วมกับยาบางชนิด ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับ โรคต้อหิน โรคไต ภาวะซึมเศร้า โรคลมชัก ภาวะเลือดไหลผิดปกติ โรคนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) โรคไทรอยด์ ภาวะความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ไม่สามารถควบคุมได้ และผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้า ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวด ยาแก้หวัด ยารักษาไมเกรน ยาเสพติด และยากระตุ้นความอยากอาหาร รวมทั้ง หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการใช้ยานี้เช่นกัน
ถูกยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561 ส่งผลให้ลงโทษผู้กระทำผิดที่นำไปผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โทษคือผู้ใดที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสม จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี ปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ตามมาตรา 115 วรรคหนึ่ง ถ้าผลิตเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7-20 ปี และปรับตั้งแต่ 7 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาทตามมาตรา 115 วรรคสอง ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ตามมาตรา 116 ผู้ใดครอบครองจะมีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 140 รวมไปถึงผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นความผิดด้วย โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 141
หากต้องการศึกษาสารอันตรายเพิ่มเติม ก็อ่านได้ที่ สารอันตรายที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอาง