ระบบขับถ่ายของร่างกาย จะทำหน้าที่กำจัดและขับถ่ายของเสียที่เหลือใช้จากปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์ซึ่งเรียกว่า เมแทบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งของเสียที่ร่างกายต้องกำจัดออกไปมีอยู่ 2 ประเภท
- สารที่เป็นพิษต่อร่างกาย
- สารที่มีปริมาณมากเกินความต้องการ
ระบบการขับถ่าย จะขับถ่ายของเสียในรูปแบบดังนี้
– ของเสียในรูปแก๊สคือลมหายใจ
– ของเหลวคือเหงื่อและปัสสาวะ
– ของเสียในรูปของแข็งคืออุจจาระ
สำหรับของเสียในรูปของแข็งคืออุจจาระนั้น จะทำงานโดย กากอาหารที่เหลือกจากการย่อย จะถูกลำเลียงผ่านมาที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่สะสมกากอาหารและจะดูดซึม สารอาหารที่มีประโยชน์ ต่อร่างกายได้แก่ น้ำ แร่ธาตุ วิตามิน และกลูโคส ออกจากกากอาหาร ทำให้กากอาหารเหนียวและข้นจนเป็นก้อนแข็ง จากนั้นลำไส้จะบีบตัวเพื่อให้กากอาหารเคลื่อนที่ไปรวมกันที่ลำไส้ตรง และ ขับถ่ายสู่ภายนอกร่างกายทางทวารหนัก ที่เรียกว่า อุจจาระ
อาการท้องผูกเป็นอย่างไร
หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่าท้องผูกหมายถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่จริงๆ แล้วอาการท้องผูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งหรือความสม่ำเสมอในการขับถ่าย ตราบใดที่คุณสามารถถ่ายได้อย่างสบายๆ ไร้กังวล ไม่ต้องเบ่ง อุจจาระนิ่มจับตัวเป็นก้อนดี แม้ 2-3 วันจะถ่ายสักครั้งก็ไม่ถือว่าผิดปกติ
แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าการขับถ่ายเป็นเรื่องยาก หลายครั้งต้องนั่งนานถึงครึ่งชั่วโมงเพื่อเบ่งถ่าย บางครั้งต้องใช้น้ำฉีด ใช้นิ้วล้วงช่วย ถ่ายไม่สุด เหมือนมีอะไรมาอุดกั้นอยู่ ถ่ายออกมาน้อย อุจจาระแข็งมีลักษณะเป็นเม็ด ผิวขรุขระหรือแห้งแตก รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าคุณมีอาการท้องผูกอย่างแน่นอน
ท้องผูกเกิดจากอะไร
ภาวะท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักๆ ได้แก่
- การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย กลั้นอุจจาระบ่อยๆ ซึ่งผู้ที่มีอาการท้องผูกมากถึง 50% มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมหล่านี้
- การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี แพทย์พบว่า 30% ของอาการท้องผูกเกิดจากการทํางานไม่ประสานกันของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเบ่งอุจจาระ นั่นคือมีการออกแรงเบ่งพร้อมกับขมิบหูรูดทวารหนักไปด้วย เมื่อแรงเบ่งมีไม่มากพอที่จะเอาชนะแรงต้านบริเวณหูรูด อุจจาระก็ไม่สามารถจะเคลื่อนออกมาได้
- การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย เป็นการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลงทําให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจดูการเคลื่อนผ่านของอุจจาระภายในลำไส้ใหญ่ (colonic transit time) โดยให้ผู้ป่วยกลืนเม็ดยาที่มีแถบทึบแสง (sitzmark radiopaque markers) หลังจากนั้น 3 และ 5 วันจึงเอ็กซ์เรย์ดูจำนวน markers ที่เหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่ ถ้ายังกระจายอยู่ทั่วไปแสดงว่าลำไส้ทำงานผิดปกติ อย่างไรก็ตาม สาเหตุนี้พบได้น้อยมาก คือ 5-6% เท่านั้น
- การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ท้องผูก เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพวกพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมิเนียม ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน เป็นต้น
ท้องผูกบ่อยๆ ส่งผลอย่างไรบ้าง
ท้องผูกส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจ หลายคนรู้สึกเครียด เบื่ออาหาร ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ปวดหัว ปวดหลัง และแสบร้อนบริเวณหน้าอก ไม่เพียงเท่านั้นการออกแรงเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำยังก่อให้เกิดผลร้ายตามมามากมาย ได้แก่
- ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือแผลปริรอบๆ ทวารหนักจากอุจจาระที่แห้งแข็งครูดหลอดเลือดจนฉีกขาด
- ทำให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหู
- ทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้นจนเป็นสาเหตุของไส้เลื่อนได้
- ทำให้กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ท้องผูกเรื้อรังจนทำให้มีอาการของลำไส้อุดตัน ได้แก่ ปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไม่ผายลม และไม่ถ่ายอุจจาระ
- เชื้อโรคแพร่กระจาย : นอกเหนือจากน้ำที่อยู่ในอุจจาระจะถูกดูดกลับไปใช้ในร่างกายแล้ว เชื้อโรคต่าง ๆ ที่เจริญเติบโตขึ้นภายในอุจจาระก็ยังจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดอีกด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการอักเสบ รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงานหนักขึ้น ผลสุดท้ายเชื้อโรคก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการปวดหัว ท้องอืด ผิวหนังอักเสบ ก่อให้เกิดสิว และ อื่นๆอีกมากมาย
- สารพิษสะสมในร่างกาย : การขับถ่ายเป็นวิธีที่ร่างกายใช้กำจัดสารพิษ และสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกายออกไปได้ แต่ถ้าหากร่างกายไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน ก็จะทำให้สารพิษเหล่านั้นถูกดูดกลับไปสะสมอยู่ในร่างกาย ไม่ว่าจะในกระแสเลือดหรือตามอวัยวะต่าง ๆ อย่างเช่น ตับ หรือลำไส้ใหญ่ และปัญหาที่จะตามมาก็คือสุขภาพจะเริ่มแย่ลง น้ำหนักจะขึ้น และถ้าจะลดน้ำหนักก็ทำได้ยาก เนื่องจากมีสารพิษในร่างกายมากเกินไปนั่นเอง
- มีกลิ่นปากและกลิ่นตัว : เพราะการที่เราไม่ขับถ่าย เมื่อเชื้อโรคถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้ว เลือดจะไม่สะอาด เมื่อผ่านไปยังปอด ปอดก็จะฟอกเลือดและขับเชื้อโรคเหล่านี้ออกมาทางลมหายใจและผิวหนังกลายเป็นกลิ่นเหม็นภายในร่างกายได้
- เสี่ยงกับโรคผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) : เมื่อเราไม่ขับถ่ายและอุจจาระสะสมอยู่ในลำไส้ สิ่งที่ตามมาก็คือ ผนังลำไส้ในส่วนที่อ่อนแอจะเกิดการโป่งพองเนื่องจากต้องรับน้ำหนักของอุจจาระที่แข็งตัวขึ้น และเมื่อถุงที่โป่งพองในลำไส้เหล่านี้มีเชื้อโรคไปสะสมก็อาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อกลายเป็นโรคผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ จนอาจทำให้เกิดเลือดออกในลำไส้ เป็นหนอง ผนังลำไส้ทะลุ หรือลำไส้อุดตันได้
การแก้ไขอาการท้องผูก
อาการท้องผูกนั้นแก้ไขให้ทุเลาลงได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 50% ของผู้ที่มีอาการท้องผูกสามารถกลับมาขับถ่ายได้เป็นปกติ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตซึ่งได้แก่ รับประทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณอุจจาระและกระตุ้นการเคลื่อนตัวภายในลำไส้ใหญ่ให้เร็วขึ้น
- รับประทานอาหารเช้าทุกวัน เพราะอาหารเช้าช่วยให้กระเพาะอาหารขยายตัวแล้วไปกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานเกิดเป็นความรู้สึกอยากถ่าย โดยควรเผื่อเวลาสำหรับการเข้าห้องน้ำหลังอาหารเช้าและการเดินหลังอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงไว้ด้วย เพราะความรู้สึกอยากถ่ายนั้นเกิดขึ้นเพียงประมาณ 2 นาทีเท่านั้น หากไม่มีการถ่าย ความรู้สึกอยากถ่ายจะหายไปและอุจจาระก็จะแข็งขึ้นทำให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมา
- ดื่มน้ำให้มากพอเพื่อให้อุจจาระอ่อนนุ่มถ่ายง่าย
- ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- สำหรับผู้ที่ยังมีปัญหาในช่วงแรกๆ แพทย์อาจให้ใช้ยาระบายช่วย เมื่อปรับพฤติกรรมได้แล้วจึงหยุดยา
อ้างอิง : https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/constipation-treatment